วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปื้นดำบริเวณข้อพับ‏


          ท่านผู้อ่านเคยสังเกตหรือพบเห็นผู้ที่มีผิวหนังบริเวณลำคอ มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มหรือดำ โดยผิวหนังอาจมีลักษณะขรุขระหนาตัวขึ้นคล้ายมีคลี่ไคลเกาะ ยิ่งไปกว่านี้อาจถึงขั้นมีติ่งเนื้อขึ้นในบริเวณดังกล่าวจนทำให้ดูรกไปหมด ไม่เพียงแต่ผิวหนังบริเวณคอที่มักมีอาการดังกล่าว ผิวหนังบริเวณข้อพับทั้งหลายนั้นก็มีโอกาสเป็นรอยดำคล้ำแบบเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นซอกรักแร้ บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา หรือในบริเวณขาหนีบ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ก็มีผู้ป่วยบางท่านที่อาจพบอาการคันได้
           อยากทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า เจ้าอาการดังกล่าวนี้ คืออะไร เฉลยเลยนะคะ เจ้าลักษณะดังกล่าวมีชื่อในภาษาแพทย์ไฮโซว่า Acanthosis Nigricans (อะแคนโทสิส นิกริแคนส์) หรือ อาจเรียกง่าย ๆ ในภาษาไทยว่า เจ้าปื้นดำบริเวณข้อพับละกันค่ะ ผู้ที่มีรอยปื้นดำลักษณะดังกล่าว อาจใช้เป็นลักษณะบ่งชี้ของผู้ที่เริ่มมีอินซูลินในร่างกายที่มากเกินพอดี หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยทั้ง 2 ประการนี้มักพบในคนอ้วน ซึ่งเป็นสัญญาณของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมา ลักษณะของปื้นดำนี้พบได้ทั้งในผู้หญิง ผู้ชาย ในเด็ก ผู้ใหญ่ และมักพบมากในชนชาติที่มีผิวสีคล้ำ เช่น กลุ่มละตินอเมริกัน แอฟริกัน เป็นต้น
          ปัจจุบันนี้ตามโรงเรียนต่าง ๆ พบเด็กที่มีโรคอ้วนอยู่ถึง 2 ใน 10 คน ที่น่าตกใจคือเริ่มพบเบาหวานชนิดที่สองซึ่งโดยปกติมักพบในผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในเด็กวัยเพียง 10 ขวบเท่านั้น เป็นสัญญาณเตือนว่าลูกหลานคุณหรือแม้แต่ตัวคุณเองจะเริ่มมีโรคเบาหวานในอายุที่น้อยลง ส่วนอาการที่ใช้สังเกตว่าเรามีโอกาสเป็นเบาหวานหรือไม่นั้น นอกจากอาการซอกคอ ซอกแขน ซอกขาหนีบ หรือข้อพับเป็นรอยปื้นดำแล้ว สามารถสังเกตได้จากอาการกระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในตอนกลางคืน หรืออาจมีมดตอมปัสสาวะเนื่องจากความหวาน เด็กอาจมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนหนังสือ เป็นต้น
          นอกจากนี้เจ้าปื้นดำตามข้อพับนี้จะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนหรือในผู้ป่วยเบาหวานแล้ว อาจพบได้ในผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาเบาหวานจำพวกอินซูลิน กลุ่มยาเสตียรอยด์ หรือ กลุ่มยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่เป็นมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งในช่องท้อง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก หรือมะเร็งไตในเด็ก ตามสถิติ กรณีพบมะเร็งนั้น ผู้ป่วยมักเสียชีวิตไม่นานหลังจากพบอาการปื้นดำบริเวณข้อพับดังกล่าว
          การรักษาเริ่มแรกเลย ด้วยการกำจัดภาวะที่เป็นต้นตอของเจ้าปื้นดำนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะดื้อต่ออินซูลิน เบาหวาน หรือ สาเหตุอื่น ๆ เช่น มะเร็ง หรือ ยาบางชนิด ส่วนการทำให้ปื้นดำดูดีขึ้น ได้มีการพยายามใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น การใช้กรดผลไม้ หรือกรดวิตามินเอทา การขัดผิวด้วยเครื่องมือ (Dermabrasion) หรือ ใช้เลเซอร์ ส่วนการตอบสนองต่อการรักษานั้น ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดปื้นดำ กรณีผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินนั้น การตอบสนองต่อการรักษามักได้ผลเร็ว และดีกว่าผู้ที่มีปื้นดำโดยสาเหตุเกิดจากการเป็นมะเร็งค่ะ หวังว่าคงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเจ้าปื้นดำบริเวณข้อพับดีขึ้นนะคะ วันนี้ สวัสดีค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.อนงค์ลักษณ์ รัตนศิริวิไล (pleasehealth)


Gusstation



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น