วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สูตรน้ำเต้าหู้ ทำน้ำเต้าหู้


           เจ้าของบล็อกเป็นคนที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งคือทานนมโคไม่ค่อยจะได้ กระเพาะดัดจริต ไม่ย่อยซะงั้น ผงก็คือ ท้องเสีย นอกนั้นแล้วก็คือ สิว เห่อ ว่าไม่ได้เลยจริงๆ ขนาดเค้ก เนย วิปครีม นี่ก็ไม่ได้นะ วันรุ่งขึ้นเห็นผล สิวยกขบวนมาทันที ก็เลยเปลี่ยนไปกินนมถั่วเหลืองนานแล้ว 
           วันดีคืนดีก็นึกๆอยู่ว่า ถั่วเหลือง ถูกจะตาย โลนึงไม่กี่สิบบาท ทำน้ำเต้าหู้ได้เป็นหม้อๆ เลยนึกอยากลองทำดู อันนี้เป็นภาพของปีที่แล้วนะครับ ตอนนั้นมหาวิทยาลัยน้ำท่วม เลยต้องอยู่บ้าน ก็ทำกินที่บ้าน กินกันทั้งบ้านครับ รอบแรกเค็ม รอบหลัง หวาน กว่าจะพอดี ก็สามสี่รอบ เป็นอันใช้ได้ 
           เพื่อนๆลองทำกันดูนะครับ จริงๆแล้วไม่ยากอย่างที่คิด ประหยัด ที่สำคัญ สะอาดปลอดภัยแน่นอน 
           ถั่วเหลืองมีประโยชน์มากๆเลยนะคับ เรีนกได้ส่ามหัศจรรย์เลยทีเดียว สนใจอ่านคลิกไปเลยคับ http://gusstationfreedom.blogspot.com/2012/11/blog-post_19.html

เริ่มทำเลยนะคับ เตรียมของซะหน่อย

ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม 
น้ำตาลทราย
เกลือ 
ใบเตย 
น้ำสะอาด 6-7 กิโลกรัม 



ล้างถั่วเหลืองให้สะอาด เลือกเอากาก สิ่่งปลอมปน และถั่วเม็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย แต่อย่านานไปนะครับ 




เมื่อได้เวลาแล้วเราก็นำถั่วเหลืองที่แช่แล้วไปล้างหลายๆน้ำ จะได้ไม่เหม็นเขียว แล้วน้ำมาใส่เครื่องปั่น เติมน้ำพอท่วม


ปั่นจนละเอียด ถ้าฝืดก็เพิ่มน้ำ ทำเช่นนี้จนหมด


นำไปกรองผ่านกระชอนหรือผ้าขาวบาง จนได้น้ำเต้าหู้เข้มข้น


เติมน้ำที่เหลือลงไปจนครบ นำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ หมั่นคนบ่อยๆไม่ได้ก้นหม้อไหม้ 


ระหว่างรอก็ไปตัดเตยหอมมาสี่ห้าใบ สับๆใส่น้ำนิดหน่อย แล้วปั่น กรองด้วยผ้าขาวบาง ก็จะได้น้ำเตยหอมแบบนี้


เมื้อเริ่มมีฟองเต้าหู้ลอย น้ำเต้าหู้เริ่มสุก ให้เติมน้ำใบเตยหอม 


 เติมเกลือนิดหน่อย เคี่ยวต่ออีกแป๊ปนึง เป็นอันว่าเสร็จสิ้น


          น้ำตาลล่ะ !! ถ้าทานได้แบบไม่ใส่จะดีมาก แต่ถ้ายังติดหวานเหมือนกัส ให้เติมภายหลัง ขณะจะรับประทาน เพราะแต่ละคนชอบหวานมากน้อยต่างกัน อีกอย่างคือ ถ้าเราไม่ใส่น้ำตาลลงไปทันทีจะเก็บไว้ได้นานกว่าครับ 
          จะเห็นว่าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อย่างนมถั่วเหลืองที่ขายกันเป็นล่ำเป็นสัน แท้จริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิด ใครจะนำไปทำทานกันเอง ทำขาย ยังไง ก็ไม่ว่ากันนะครับ 


Gusstation






ถั่วเหลือง กินแล้วสวย จริงป่ะ




         ถั่วเหลืองมีทั้งคาร์โบฮัยเดรทเชิงซ้อน และโปรตีนที่ไม่ปนไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลยาวแบบเนื้อสัตว์ ไม่มีสารอดรีนาลีนที่สัตว์มักหลั่งด้วยความตกใจขณะถูกฆ่า ไม่มีฮอร์โมนเร่งโต หรือปฏิชีวนะจากการเลี้ยงสัตว์ มีแคลเซียมในสัดส่วนที่ไม่ล้นเกินแมกนีเซียมแบบนมวัว มีวิตามินแร่ธาตุมากหลาย…ที่สำคัญคือมีฮอร์โมนพืช...คือ..ไอโซฟลาโวน

          ไอโซฟลาโวนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืชธรรมชาติ (Phytoestrogen) นอกจากช่วยในการดูดซึมแคลเซียม บรรเทาภาวะกระดูกพรุนแล้ว การได้รับแต่เนิ่นๆ ยังช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมในหญิง และมะเร็งต่อมลูกหมากในชาย ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการฉีดหรือกินฮอร์โมนสังเคราะห์

ยังมีอะไรในถั่วเหลือง

         -คาร์โบฮัยเดรทเชิงซ้อน เป็นอาหารสมบูรณ์แบบสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก เพราะให้ความรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ให้พลังงานที่เผาผลาญช้าๆแต่ทนนานสม่ำเสมอ 

         -เส้นใยชนิดไม่ละลายน้ำ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ช่วยให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารได้เร็วขึ้น เมื่อของเสียไม่หมักหมม การดูดซึมสารพิษไม่เกิด ลดความระคายเคืองต่อเยื่อบุลำไส้ จึงลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

         -เส้นใยชนิดละลายน้ำ เป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตโคเลสเตอรอลดี ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ลดระดับกลูโคสในเลือด จัดเป็นอาหารทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

          -ซาโปนิน ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลเลว LDL

          -โฟเลท จำเป็นต่อการพัฒนาตัวอ่อน ลดระดับโฮโมซิสเทอีน อันเป็นสารอันตรายต่อระบบหัวใจหลอดเลือด

         -เลซิทิน มีผลในการลดไขมัน เสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ

         -ลิกแนน สารยับยั้งโปรทิเอส เอนไซม์ ป้องกันมะเร็ง

และที่สำคัญคือเจนิสติน และโปรตีนพืช !

แล้วดีอย่างไร

           - ฮอร์โมนพืชทำงานคล้ายๆ ฮอร์โมนเอสโตรเจนของคน จึงเรียกไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) มีข้อเด่นคือ เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ปกติ พร้อมยับยั้งเซลล์เนื้องอก ในขณะที่ estrogen ของคนหรือจากการสังเคราะห์ที่นำมาผลิตเป็นยา กระตุ้นทั้งเซลล์ปกติและเนื้องอกมะเร็ง โดยพบว่าการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อทดแทน (Hormone Replacement Therapy–HRT) ที่คิดว่าใช้ได้ผลดีสำหรับสตรีวัยทอง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 80% ในปีแรก และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม 26% สมองขาดเลือด 41% หัวใจวาย 29%

         -ไฟโตเอสโตรเจนมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงจับคู่กับ “ตัวรับเอสโตรเจน” ในเซลล์ได้ ไฟโตเอสโตรเจนไม่ทำให้ระดับเอสโตรเจนในเลือดเปลี่ยนแปลง (ถ้าร่างกายมีเอสโตรเจนต่ำ) แต่จะต้านฤทธิ์ของเอสโตรเจนหากร่างกายมีเอสโตรเจนมากเกินไป จึงเป็นการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม และมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน

          -ผู้ชายมีฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากมีมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก ไฟโตเอสโตรเจนจากพืชจึงป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้

          -ส่วนหญิงวัยทอง จะมีเอสโตรเจนน้อยลง เชื่อกันว่าไฟโตเอสโตรเจนจากพืช สามารถทดแทนเอสโตรเจนได้ จึงช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบหรือผิวแห้ง อีกทั้งป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยนี้ด้วย ทำให้พบอาการเหล่านี้น้อยในหญิงชาวเอเชีย ซึ่งบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำ

           -มีการตรวจปัสสาวะพบว่า หญิงญี่ปุ่นขับเอสโตรเจนออกทางปัสสาวะ มากกว่าหญิงชาวตะวันตก 100 – 1000 เท่า

          -มีการวิจัยในปี 1998 พบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้ไอโซฟลาโวนเพิ่มวันละ 40 กรัม จากโปรตีนถั่วเหลือง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีอาการร้อนวูบวาบลดลง 45%

           -ไอโซฟลาโวน เป็นไฟโตเอสโตรเจนชนิดหนึ่ง ซึ่งยังมีหลายรูปแบบ เช่น daidzein genistein และ glycitein

           - ถั่วเหลือง เป็นแหล่งอาหารที่มีปริมาณของไอโซฟลาโวนอยู่มากกว่าอาหารอื่นๆ โดยเจนิสตินเป็นชนิดของไอโซฟลาโวนที่พบในถั่วเหลือง

เจนิสติน ต้านมะเร็งได้เหลือเชื่อ ! …
          1. สามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis (ตายตามโปรแกรม) จึงเป็นสารทำลายเซลล์มะเร็ง…
          2. เจนิสติน เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Thyrosine kinase) จึงหยุดการแข็งตัวของเลือดส่วนเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุของหัวใจวาย และการเติบโตของเซลล์มะเร็ง…
          3. เจนิสติน ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ DNA topoisomerase II ซึ่งลดการสร้าง DNA ทำให้เซลล์หยุดแบ่งตัว ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดเจริญเติบโต …
          4. เจนิสตินยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ (angiogenesis) อันสำคัญต่อการเจริญของเนื้องอก จึงป้องกันการก่อตัวของมะเร็งชนิดอยู่กับที่ เช่น มะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา พิจารณาให้เจนิสตินเป็นยารักษาโรคมะเร็ง…
5. เจนิสตินยังมีบทบาทควบคุมมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

          พบว่าสตรีชาวเอเชียที่บริโภคถั่วเหลืองตั้งแต่วัยรุ่น มีอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และแม้จะเป็นขึ้นมา เนื้องอกก็มักจะรุนแรงน้อยกว่า มีอัตรารอดชีวิตสูง

          ชาวอังกฤษมีอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม และต่อมลูกหมากสูงกว่าชาวญี่ปุ่น 4 เท่า

          มะเร็งต่อมลูกหมากในประชากรชาวญี่ปุ่นเกิดขึ้นช้า และเติบโตช้ากว่าเมื่อเทียบกับชาวตะวันตก ปัจจัยหนึ่งก็คือ นิสัยบริโภคซึ่งนอกจากปลาแล้ว ก็คือถั่วเหลือง ตลอดรวมถึงถั่วชนิดอื่นๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วดำ ฯ มากกว่าชาวอเมริกันทั่วไป

          การศึกษาในสัตว์พบว่าเจนิสติน ซึ่งพบมากในถั่วเหลือง สามารถลดการเติบโตของเนื้องอกต่อมลูกหมากได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนไบโอคานิน เอ (ไอโซฟลาโวนอีกชนิดหนึ่ง) นั้น พบว่าช่วยลดการหลั่งของ PSA ซึ่งถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาโดยฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน


อาหารชนิดไหนที่ควรจะแนะนำให้กับผู้ป่วยมะเร็ง

           คำตอบคือ อาหารจากพืช น่าจะเป็นประเภทแรก เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีนพืช สารต้านอนุมูลอิสระ ไฟโตเคมิคอล คาร์โบฮัยเดรทเชิงซ้อน วิตามินแร่ธาตุ และกากใย โดยควรลดกลุ่มคาร์โบฮัยเดรท น้ำตาล…ถั่วเหลืองจึงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ และหากต้องการเนื้อสัตว์จริงๆ เนื้อปลาก็เป็นตัวเลือกของกลุ่ม

          นอกจากป้องกันโรคมะเร็งแล้ว ไฟโตเอสโตรเจนยังช่วยบำรุงผิว ช่วยรักษาระดับความดันเลือด ระดับโคเลสเตอรอล ทำให้ LDL ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลเลว ลดจำนวนลง

          Phytoestrogen ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ช่วยรักษาแคลเซียมในเนื้อกระดูก เพิ่มการดูดซึมแคลเซียม จึงใช้ป้องกันโรคกระดูกพรุน

          โปรตีนถั่วเหลือง เหมาะแก่ผู้มีโคเลสเตอรอล และไขมันสูง แทนการกินเนื้อสัตว์

           เมื่อได้โปรตีน โดยปราศจากไขมันและโคเลสเตอรอล ถั่วเหลืองจึงเหมาะแก่ผู้ลดความอ้วน เบาหวาน ไขมันเลือดสูง ความดัน โรคหัวใจ และปวดข้อ โดยถั่วเหลืองให้โปรตีน 52% คาร์โบฮัยเดรท 32% ที่เหลือเป็นเส้นใยอาหาร วิตามินแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์

การบริโภคเนื้อแดงเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทางเดินอาหาร…ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาคือ ชาวสิงค์โปรที่ชอบกินเนื้อแดง มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก 2.2 เท่า สมาคมมะเร็งสหรัฐศึกษาชาวอเมริกัน 149,000 คน เป็นเวลากว่า 20 ปี พบว่าผู้ที่กินเนื้อแดง และเนื้อที่ผ่านการแปรรูปเป็นเวลานาน 10 ปี มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าผู้ที่ไม่ค่อยชอบกินเนื้อถึง 30% และมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายสูงถึง 40%

           โดยนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เนื้อแดงทำให้ร่างกายสร้าง 5–N–glycolylneuraminic acid หรือ Neu 5 GC ซึ่งไม่พบในเซลล์มนุษย์   มันจึงเป็นผู้รุกรานที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุก่อโรคเรื้อรัง รวมถึงมะเร็งในที่สุด

           อาหารโปรตีนสูง ยังมีแนวโน้มที่เร่งการสูญเสียแคลเซียมออกจากกระดูกด้วย (เพื่อลดสภาวะกรดจากกรดอมิโนโปรตีน) จึงเป็นเหตุหนึ่งของโรคกระดูกพรุน

           โปรตีนจากถั่วเหลือง จึงเหนือกว่าเนื้อสัตว์ติดมัน หรือเนื้อแดง อีกทั้งราคาถูกกว่า


ประโยชน์ที่ได้

           -ภาวะหมดประจำเดือน…ไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลือง ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของภาวะหมดประจำเดือน ลดอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง ขนาดที่แนะนำคือ วันละ 60 มก. เทียบเท่าเต้าหู้ 200 มก.

           -ป้องกันกระดูกพรุน  วิธีหนึ่งคือ  การกินอาหารที่มีไอโซฟลาโวนหญิงเอเชียพบภาวะนี้น้อยกว่าชาวตะวันตก ทั้งที่โครงกระดูกเล็กกว่า กินนมและแคลเซียมน้อยกว่า ผลการศึกษาพบว่า การได้รับไอโซฟลาโวนวันละ 90 มก. จากโปรตีนถั่วเหลือง ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ     

           -กันมะเร็ง ไอโซฟลาโวน ป้องกันการเติบโตของเนื้องอก และขัดขวางการกระตุ้นเซลล์มะเร็งโดยฮอร์โมนเพศ (เช่น เอสโตรเจน และเทสโตสเตอโรน)

           -ป้องกันโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน  ป้องกันได้ด้วย ฟลาโวนอยด์อย่างโอพีซี เช่นเดียวกับไอโซฟลาโวนก็ช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็ง มีงานวิจัยพบว่า การได้ไอโซฟลาโวนวันละ 62 มก. จากโปรตีนถั่วเหลือง ช่วยลดแอลดีแอลโคเลสเตอรอลลง 10%

     

น้ำมันถั่วเหลือง มีประโยชน์ ???

           น้ำมันที่สกัดจากถั่วเหลืองมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ถูกนำไปใช้ในกระบวนการชีวเคมีต่างๆ เช่น ใช้สร้างผนังเซลล์ได้ 

           ความไม่อิ่มตัวทำให้รับออกซิเจน หรือต้านอนุมูลอิสระได้ แต่เมื่อถูกเติมออกซิเจนแล้ว ก็กลายเป็นไขมันอิ่มตัวที่ด้อยคุณภาพ  ยิ่งหากถูกความร้อนรุนแรง ยังอาจแปรสภาพเป็นไขมันทรานส์ได้ จึงไม่สมควรใช้ปรุงร้อน และควรได้สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอ เพิ่มเติมพร้อมการบริโภคด้วย 

           อีกทั้งการเป็นกรดไขมันสายโมเลกุลยาว ทำให้เกิดการเผาผลาญช้า 


นมถั่วเหลืองทั่วไปที่ขายในท้องตลาด แท้จริงมีข้อด้อย

           ความหวาน…ก็เพราะใส่น้ำตาลมาก อันนี้ดูได้ที่ฉลาก เด็กทานมาก ฟันผุ คนเบาหวานทานมากก็ไม่ได้

           ความมันอร่อยลิ้น... มักมากับครีมเทียม หรือเติมไขมัน หรือผสมน้ำนมวัว (นมผง) เข้าไปด้วย

           ความนุ่มกลมกล่อมลิ้น..... เกิดจากการขัดสีผิวบนเมล็ดออกไปหมดจด จนเหลือแต่แป้งถั่วล้วนๆ เปรียบได้กับข้าวขาวที่ขัดสี เปลือกและผิวหุ้มออกไปจนหมด


หากต้องการสารอาหารจากถั่วเหลือง ควรบดพร้อมผิวหุ้มเมล็ด !

           เพราะสารพืชอันทรงคุณค่า เช่น ไฟโตเอสโตรเจน วิตามินทั้งหลาย ล้วนอยู่ตรงผิวหุ้มเมล็ด ทำนองเดียวกับข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ที่ทรงคุณค่ากว่าข้าวขาว
           
           อีกข้อดีของถั่วเหลืองบดพร้อมผิวหุ้มเมล็ด คือ เพิ่มกากใยอาหารของผิวหุ้มเมล็ด ช่วยการขับถ่ายเมื่อดื่มอุ่นๆ ก่อนนอน ช่วยให้หลับสบาย

           ส่วนข้อด้อยของถั่วเหลืองบดพร้อมผิวหุ้มเมล็ด  คือสากลิ้น ไม่หวาน ไม่มัน ไม่กลมกล่อม 


ขอบคุณข้อมูลจาก หมอมวลชน
 เอกสารอ้างอิง

1. คู่มือฉลาดใช้วิตามิน แร่ธาตุสมุนไพร : รีดเดอร์สไดเจสท์ ISBN 974-9300351

2. มหัศจรรย์ อาหารต้านโรค 2549 ISBN 974-7784-42-4

3. วารสารอาหารสุขภาพ แปลโดย พอ.หญิงศรีนวล เจียจันทร์พงษ์ และคณะ ฉ.138/2552

4. โภชนาการต้านมะเร็ง ดร.ศักดา ดาดวง แปล ISBN 978-974-212-811-1




Gusstation



วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปื้นดำบริเวณข้อพับ‏


          ท่านผู้อ่านเคยสังเกตหรือพบเห็นผู้ที่มีผิวหนังบริเวณลำคอ มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มหรือดำ โดยผิวหนังอาจมีลักษณะขรุขระหนาตัวขึ้นคล้ายมีคลี่ไคลเกาะ ยิ่งไปกว่านี้อาจถึงขั้นมีติ่งเนื้อขึ้นในบริเวณดังกล่าวจนทำให้ดูรกไปหมด ไม่เพียงแต่ผิวหนังบริเวณคอที่มักมีอาการดังกล่าว ผิวหนังบริเวณข้อพับทั้งหลายนั้นก็มีโอกาสเป็นรอยดำคล้ำแบบเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นซอกรักแร้ บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา หรือในบริเวณขาหนีบ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ก็มีผู้ป่วยบางท่านที่อาจพบอาการคันได้
           อยากทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า เจ้าอาการดังกล่าวนี้ คืออะไร เฉลยเลยนะคะ เจ้าลักษณะดังกล่าวมีชื่อในภาษาแพทย์ไฮโซว่า Acanthosis Nigricans (อะแคนโทสิส นิกริแคนส์) หรือ อาจเรียกง่าย ๆ ในภาษาไทยว่า เจ้าปื้นดำบริเวณข้อพับละกันค่ะ ผู้ที่มีรอยปื้นดำลักษณะดังกล่าว อาจใช้เป็นลักษณะบ่งชี้ของผู้ที่เริ่มมีอินซูลินในร่างกายที่มากเกินพอดี หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยทั้ง 2 ประการนี้มักพบในคนอ้วน ซึ่งเป็นสัญญาณของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมา ลักษณะของปื้นดำนี้พบได้ทั้งในผู้หญิง ผู้ชาย ในเด็ก ผู้ใหญ่ และมักพบมากในชนชาติที่มีผิวสีคล้ำ เช่น กลุ่มละตินอเมริกัน แอฟริกัน เป็นต้น
          ปัจจุบันนี้ตามโรงเรียนต่าง ๆ พบเด็กที่มีโรคอ้วนอยู่ถึง 2 ใน 10 คน ที่น่าตกใจคือเริ่มพบเบาหวานชนิดที่สองซึ่งโดยปกติมักพบในผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในเด็กวัยเพียง 10 ขวบเท่านั้น เป็นสัญญาณเตือนว่าลูกหลานคุณหรือแม้แต่ตัวคุณเองจะเริ่มมีโรคเบาหวานในอายุที่น้อยลง ส่วนอาการที่ใช้สังเกตว่าเรามีโอกาสเป็นเบาหวานหรือไม่นั้น นอกจากอาการซอกคอ ซอกแขน ซอกขาหนีบ หรือข้อพับเป็นรอยปื้นดำแล้ว สามารถสังเกตได้จากอาการกระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในตอนกลางคืน หรืออาจมีมดตอมปัสสาวะเนื่องจากความหวาน เด็กอาจมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนหนังสือ เป็นต้น
          นอกจากนี้เจ้าปื้นดำตามข้อพับนี้จะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนหรือในผู้ป่วยเบาหวานแล้ว อาจพบได้ในผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาเบาหวานจำพวกอินซูลิน กลุ่มยาเสตียรอยด์ หรือ กลุ่มยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่เป็นมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งในช่องท้อง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก หรือมะเร็งไตในเด็ก ตามสถิติ กรณีพบมะเร็งนั้น ผู้ป่วยมักเสียชีวิตไม่นานหลังจากพบอาการปื้นดำบริเวณข้อพับดังกล่าว
          การรักษาเริ่มแรกเลย ด้วยการกำจัดภาวะที่เป็นต้นตอของเจ้าปื้นดำนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะดื้อต่ออินซูลิน เบาหวาน หรือ สาเหตุอื่น ๆ เช่น มะเร็ง หรือ ยาบางชนิด ส่วนการทำให้ปื้นดำดูดีขึ้น ได้มีการพยายามใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น การใช้กรดผลไม้ หรือกรดวิตามินเอทา การขัดผิวด้วยเครื่องมือ (Dermabrasion) หรือ ใช้เลเซอร์ ส่วนการตอบสนองต่อการรักษานั้น ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดปื้นดำ กรณีผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินนั้น การตอบสนองต่อการรักษามักได้ผลเร็ว และดีกว่าผู้ที่มีปื้นดำโดยสาเหตุเกิดจากการเป็นมะเร็งค่ะ หวังว่าคงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเจ้าปื้นดำบริเวณข้อพับดีขึ้นนะคะ วันนี้ สวัสดีค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.อนงค์ลักษณ์ รัตนศิริวิไล (pleasehealth)


Gusstation



วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน





u015.jpg วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน

เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.จุรีย์ เจริญธีรบูรณ์



โรคคอตีบและโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนโรคบาดทะยักพบได้ในทุกเพศและวัย เพราะมีการปนเปื้อนของเชื้อบาดทะยักในสิ่งแวดล้อมและดิน ในประเทศไทยมีการใช้วัคซีนป้องกันคอตีบ - บาดทะยัก- ไอกรน ครอบคลุมทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคทั้งสามได้เป็นอย่างดี
โรคคอตีบ
เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี ส่วนมากจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เกิดจากการติดเชื้อ Corynebacterium diphtheriae ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย มีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (White-grayish membrane) ซึ่งดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าเขี่ยแรงจะทำให้มีเลือดออกได้ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และประสาทอักเสบ (neuritis) ซึ่งเกิดจากชีวพิษ (toxin) ของเชื้อ ดังนั้นการให้วัคซีนที่เป็นทอกซอยด์ (toxoid) ซึ่งได้จากชีวพิษช่วยลดอัตราการเกิดโรคคอตีบได้เป็นอย่างดี จึงแนะนำให้มีการให้วัคซีนให้ครบตามกำหนด ปัจจุบันพบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในผู้ใหญ่ลดลง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการใช้วัคซีน dT ทดแทนการฉีดวัคซีนบาดทะยักเดี่ยวในกรณีของคนตั้งครรภ์และผู้ที่มีบาดแผล
โรคบาดทะยัก
โรคนี้เกิดจากสารชีวพิษ (toxin) ที่สร้างจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ชอบออกซิเจน การเกิดโรคเกิดจากการปนเปื้อนของชีวพิษทางบาดแผลหรือการได้รับเชื้อเข้าสู่แผลที่มีออกซิเจนต่ำจะทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดีและให้ชีวพิษออกมา อาการของโรคคือ การเจ็บปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เริ่มจากบริเวณแก้มและลำคอ และลงมาที่กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ทำให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง บางครั้งอาจพบการหดเกร็งกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณบาดแผลเท่านั้น การหดเกร็งกล้ามเนื้อเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกของชีวพิษ ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อบาดทะยักได้ไม่ดีและไม่สามารถกำจัดชีวพิษที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่การให้วัคซีน ที่เป็น ทอกซอยด์ช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดีและการให้อิมมูโนกอลบลูลินสามารถช่วยกำจัดชีวพิษได้
โรคไอกรน
เป็นโรคที่พบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี และในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนมีอัตราการเสี่ยงต่อการการเกิดโรคและเสียชีวิตได้สูง เกิดจากเชื้อ Bordeltella pertussis การติดเชื้อผ่านทางน้ำมูกและน้ำลาย อาการทั่วไปคล้ายไข้หวัดคือ ไข้ต่ำ น้ำมูกไหลจาม และไอ แต่อาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคอไม่แดงและเสียงปอดปกติ ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนจะพบร่วมกับไข้ อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดของไอกรนในผู้ใหญ่ซึ่งกำลังมีการพิจารณาการให้วัคซีนไอกรนซ้ำอีกในผู้ใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักทำจากทอกซอยด์ ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคไอกรนเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายหรือส่วนของแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อ วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มีอยู่แบ่งได้เป็น 3 จำพวกคือ
1. วัคซีนบาดทะยัก (TT) ประกอบด้วยทอกซอยด์บาดทะยัก
2. วัคซีนผสมของคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนกลุ่มนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DT และวัคซีน dT ซึ่งแตกต่างกันที่ปริมาณของทอกซอยด์คอตีบ โดยทอกซอยด์คอตีบที่ใช้ในเด็กต่ำกว่า 7 ปีจะมีปริมาณสูงถึง 30 Lf (DT) ส่วนวัคซีนที่มีปริมาณทอกซอยด์คอตีบต่ำอยู่ที่ 10 Lf (dT) ใช้สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป
3. วัคซีนผสมของคอตีบ บาดทะยักและไอกรน วัคซีนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DTwP และวัคซีน DTaP วัคซีนทั้งสองชนิดมีองค์ประกอบของทอกซอยด์คอตีบและบาดทะยักที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในส่วนของวัคซีนไอกรน โดยวัคซีน DTwP ประกอบด้วยเชื้อไอกรนที่ตายแล้ว ขณะที่วัคซีน DTaP ประกอบด้วยแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อไอกรนจำนวน 2 อย่างคือ Inactivated lymphocytois promoting factor (LPF) และ Filamentous hemagglutinin (FHA) วัคซีนนี้ใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ปี โดยพบว่าวัคซีนทั้งสองชนิดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ไม่แตกต่างกัน แต่วัคซีน DTwP ให้ผลข้างเคียงสูงกว่า DTaP ถ้าได้รับวัคซีน DTwP แล้วมีไข้ สูงเกิน 40.5 0C มีการชักหรือกรีดร้องนานกว่า 3 ชั่วโมง หรือมีภาวะตัวอ่อนและไม่ตอบสนองเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน เมื่อจะให้วัคซีนครั้งต่อไปควรให้ยาลดไข้หรือยากันชักป้องกันไว้ก่อน หรือให้วัคซีน DTaP/DT แทน
ห้ามให้วัคซีน
ที่มีส่วนผสมของวัคซีนไอกรน ในกรณีที่มีอาการทางสมอง ( encephalopathy) ภายใน 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน ร่วมถึงในกรณีของเด็กที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทที่ควบคุมอาการของโรคยังไม่ได้ การรับวัคซีนครั้งต่อไปห้ามมีวัคซีนไอกรนผสมอยู่ด้วย
การบริหารวัคซีน
วัคซีนคอตีบ บาดทะยักและไอกรนชนิด DTwP และ DTaP จะเริ่มให้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4 ปี และตามด้วยการกระตุ้นซ้ำอีก 2 ครั้งด้วยวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (dT) ตอนอายุ 7 และ 12 ปี ส่วนในคนท้องหรือมีบาดแผลจะแนะนำให้ฉีดวัคซีน dT เพื่อป้องกันบาดทะยัก การพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยักเมื่อได้รับบาดแผล ขึ้นกับประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยักและลักษณะบาดแผลตามรายละเอียดดังตารางที่ 1
ผลข้างเคียง
เนื่องจากวัคซีนในกลุ่มนี้ผสม aluminium hydroxide, aluminum phosphate หรือ Calcium phosphate อยู่ ดังนั้นหลังได้รับวัคซีนมักพบอาการปวด บวมและแดง ในบริเวณที่ฉีด และมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง นอกจากนั้นอาจพบอาการอาเจียนและอาการไข้ได้
การเก็บวัคซีน
สำหรับวัคซีนที่อยู่ในรูปของเหลวต้องเก็บแช่เย็นตลอดเวลา ห้ามแช่ในช่องแช่แข็ง ส่วนวัคซีนในรูปผงแห้งต้องเก็บแช่เย็นโดยสามารถเก็บได้ในตู้เย็นธรรมดาหรือช่องแช่แข็ง
ปัจจุบันมีการรวมวัคซีนโรคอื่น ๆ เข้ากับในวัคซีนกลุ่มนี้ด้วยเพื่อช่วยลดจำนวนการครั้งในการวัคซีนลง เช่น วัคซีนโรคตับอักเสบบี โรคโปลิโอ และ ไข้สมองอักเสบ Haemophilus type B เป็นต้น ตัวอย่างของวัคซีนผสมที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แสดงดังตารางที่ 2
การให้วัคซีนบาดทะยักในหญิงมีครรภ์
การให้วัคซีนบาดทะยักในหญิงมีครรภ์ควรได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม โดยพิจารณาดังนี้
- ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้ฉีดเข็มแรกเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก และนัดฉีดครั้งต่อไปจนครบอย่างน้อย 3 เข็ม ให้ฉีดโดยมีระยะห่าง 0, 1, 6 เดือน จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี
- ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็มให้ฉีดอีก 2 เข็ม ซึ่งควรห่างกัน 6 เดือน
- ถ้าได้มาแล้ว 2 เข็ม ให้ฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 2 และเข็ม 3 อย่างน้อย 6 เดือนจากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี
- ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาอย่างน้อย 3 เข็มและเข็มสุดท้ายนานกว่า 10 ปี ให้ฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง จากนั้นให้กระตุ้นทุก 10 ปี

ตารางที่ 1 : ตารางการป้องกันโรคบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล

protect-diphtheria01.jpg
* แผลที่ฉีกขาดและปนเปื้อนเศษดิน ทราย หรือสิ่งสกปรก โดยเฉพาะแผลลึกที่ปากแผลเล็ก
** Tetanus Immunoglobulin (TIG) ขนาดที่ใช้ฉีดคือ 250 ยูนิต หรือใช้ antitoxin ที่ผลิตจากซีรัมม้า 1,500 ยูนิต หากจะใช้ชนิดที่ผลิตจากม้า จะต้องทำการทดสอบผิวหนังก่อนเสมอ

ตารางที่ 2: ตัวอย่าง Combined bacterial vaccine ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด

protect-diphtheria02.jpg
ที่มาของภาพ http://www.magickidschool.com/content_image/u/u015.jpg


วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อ้วนหลบใน ยังไงหว่า???




บางคนอ้วนออกพุง บ้างก็อ้วนออกแขนขา บ้างก็อ้วนออกหน้า คนเรามีวาสนาแห่งความอ้วนต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ความอ้วนที่เรากังวลคือ หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา และใบหน้า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหน้าตาของร่างกายที่ต้องนำเสนอออกสู่สังคม
หากมองในแง่สุขภาพ  นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เล่าว่า ความอ้วนใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย คนอ้วนหลายคนมีสุขภาพดีกว่าคนผอม เห็นได้จากในหลายๆ ครั้งเวลาเจาะเลือดตรวจไขมัน กลายเป็นว่าไขมันในคนผอมมีมากกว่าคนอ้วน ดังนั้น อ้วนไม่อ้วนไม่ใช่ตัวตัดสินเสมอไป
ความอ้วนที่จะบอกสุขภาพได้ต้องดูประกอบกันหลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่ “อ้วนลึกๆ” ท่านเหล่านี้จะมีไขมันประกอบอยู่ในช่องท้องสูง แม้ข้างนอกจะไม่มีพุงก็ตาม โดยไขมันที่พอกอยู่ในช่องท้องเป็นแบบเดียวกับ “มันเปลว” ที่เราเห็นอยู่ในตลาดสด หากลองนำไปเจียวแล้วก็ได้น้ำมันเหมือนกัน
ฉะนั้น ถ้าจะดูสุขภาพจริงจัง ต้องดูแยกที่ตำแหน่งของไขมัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับความปลิ้นหรือไม่ปลิ้นของเนื้ออวบๆ ที่ต้นแขน ต้นขา โดยหนึ่งตัวชี้สำคัญคือ ไขมันตำแหน่งแย่ที่สุด อย่าง “ไขมันในช่องท้อง”(Visceral fat) ที่เป็นตัวทำให้เกิดโรคในกลุ่มที่เรียกว่า “อ้วนลงพุงมฤตยู”(Metabolic syndrome) ทำให้เกิดผลลัพธ์ร้ายเรียงกัน คือ หลอดเลือดพัง ดื้อต่ออินซูลินที่ทำให้ความดันสูงจนอาจกลายเป็นเบาหวาน และมันจุกตับหรือภาวะที่มีไขมันในเนื้อตับมากกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะยิ่งอันตรายมากในคนที่มีทั้งความอ้วนแบบเนื้อปลิ้นและอ้วนลึกๆ
นอกจากนี้ อ้วนลงพุงยังจะนำโรคความดันสูง เบาหวาน ไขมันพุ่ง และมะเร็งมาจ่อคิวอีก หนทางกำจัดไขไขมันที่เกาะอยู่ข้างในคือต้อง “ยกเครื่อง” การกิน-อยู่เสียใหม่ ดังต่อไปนี้
“เพิ่มไขมันสีน้ำตาล”  ในตัวคนเรามีไขมันที่มีสีขาวกับน้ำตาล โดยไขมันสีน้ำตาลนี้มีมากตอนเกิดเพื่อให้พลังงานและช่วยเผาผลาญ แต่พอโตขึ้นก็แทบไม่เหลือ การเพิ่มไขมันสีน้ำตาลต้องรับประทานไขมันดีและออกกำลังกายให้เหมาะสมจะช่วยได้
“เลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส”  น้ำตาลชนิดนี้คือน้ำตาลผลไม้และน้ำตาลที่อยู่ในน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมหลายอย่าง ตัวที่น่ากลัวคือ “น้ำเชื่อมข้าวโพดเข้มข้น”(HFCS) ที่หวานจัดและกระตุ้นให้มันจุกตับได้ เป็นตัวบำรุงไขมันในช่องท้องอย่างดีเลย

และ “คอยตรวจการทำงานตับ” เพื่อความไม่ประมาทควรตรวจไว้ว่า มีไขมันมาเกาะหรือไม่ และเพื่อดูค่าเอนไซม์ตับจากเลือดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งยังควรอัลตร้าซาวน์ดูเนื้อตับเป็นระยะทุกๆ 6 เดือน ยิ่งในท่านที่ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี ควรดูเรื่องไขมันจุกตับไว้ให้ดี
นพ.กฤษดา ชี้ว่า การมีค่านิยมว่ารูปร่างผอมเพรียวแล้วจะดี ยิ่งทำให้มี “จุดอ่อน” เสมือนหลุมดำทางสุขภาพ เพราะทำให้ลืมนึกถึงปรากฏการณ์อ้วนข้างในอย่างเช่นที่บอก จึงขาดความระวังเรื่องการรับประทาน แถมมักไม่ออกกำลัง เห็นได้ชัดจากประสบการณ์ตรวจคนไข้ มีหลายท่านที่ตรวจเลือดแล้วปรากฏค่าสารบ่งชี้มะเร็งตับขึ้น ค่าเอนไซม์ตับสูง มีน้ำตาลสะสมก็อยู่ในเกณฑ์อันตราย ขณะที่ตัวคนไข้ก็จะงงๆ ว่า ผอมอย่างนี้ทำไมข้างในดูเหมือนคนอ้วน ผิดกับคนเจ้าเนื้อหลายท่านที่หมั่นตรวจสุขภาพประจำเพราะตระหนักดีว่าเป็นคนอ้วนเลยสุขภาพดีไขมันไม่สูง ร่างกายข้างในแจ่มแจ๋ว เช่นเดียวกับผู้ที่ดูแลสุขภาพดีทั่วไป.

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Gusstation

4 อาหารต้านไมเกรน




            ปวดหัวอาจจะมีอาการปวดตุ๊บๆ แถวขมับ หรืออาจปวดบริเวณเบ้าตาเหมือนหัวใจเต้นตุ๊บๆ และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการปวดที่สร้างความรำคาญและทรมานให้กับผู้ป่วย

            ไมเกรน มักจะพบมากในช่วงวัยรุ่นอายุ 10-25 ปี แต่ก็พบในเด็กอายุ 7-8 ขวบได้ ยิ่งอายุมากขึ้น อาการก็จะลดน้อยลง

            การกินอาหารที่จำเป็นบางอย่างช่วยป้องกันไมเกรนได้ ทั้งวิตามินและเร่ธาตุที่สำคัญได้แก่


            กรดไขมันโอเมก้า-3 จากปลาทะเล จำพวกปลาทู แซลมอน ทูน่า และซาร์ดีนช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ช่วยบำรุงระบบประสาท และป้องกันไมเกรนได้

            แมกนีเซียม การวิจัยพบว่ากินแมกนีเซียม 200 มิลลิกรัมเสริมทุกวัน ช่วยลดความถี่ของอาการไมเกรนลง หรืออาจจะกินจากอาหารก็ได้ โดยแมกนีเซียมมีมากในเมล็ดธัญญพืชเต็มรูป เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต และผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง ผักโขม บรอกโคลี คะน้า


            แคลเซียมและวิตามินดี ช่วยป้องกันไมเกรนได้เช่นกัน พบมากในผักใบเขียว และถั่ว ส่วนในนมถึงแม้มีแคลเซียมสูง แต่เป็นตัวนำไมเกรนชั้นยอด จึงควรหลีกเลี่ยง



            นอกจากนี้จากงานวิจัยยังพบว่า การกิน ไรโบฟลาวิน หรือ วิตามินบี 2 ทุกวัน จะช่วยลดจำนวนครั้งการเป็นไมเกรนลง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบมากในธัญพืช ข้าวซ้อมมือ และมันฝรั่ง



            ส่วนหนุ่มสาวที่ยังถูกไมเกรนรบกวน หากได้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเต็มที่ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการนี้ได้เช่นกัน



ขอบคุณข้อมูลจาก  นิตยสารชีวจิต

Gusstation